จุดดำน้ำเกาะเต่ามีสภาพแวดล้อมที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นกองหินต่าง ๆ ที่อยู่ห่างออกไปจากฝั่งหรือจะเป็นในอ่าวรอบ ๆ เกาะที่เงียบสงบ ไม่ว่าคุณจะมาเที่ยวเกาะเต่าเพื่อเรียนดำน้ำสกูบ้า ฟันไดฟ์ หรือฟรีไดฟ์ ต่อไปนี้คือจุดดำน้ำเกาะเต่าที่เราแนะนำ
ตำแหน่ง: อยู่ระหว่างเกาะเต่าและเกาะพะงัน
ความลึก: เฉลี่ย 18 เมตร / สูงสุด 40 เมตร
ระดับนักดำน้ำ: ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงนักดำน้ำที่มีประสบการณ์
เราสามารถสังเกตตำแหน่งของหินใบได้อย่างง่ายดายเมื่อมองจากบนเรือ เนื่องจากกองหินนี้สูงขึ้นมาจนโผล่พ้นน้ำ ขั้นตอนที่เป็นที่นิยมในการดำน้ำที่ ‘หินใบ’ คือเริ่มต้นไดฟ์จากการดำเข้าไปในปล่อง (chimney) ที่ปากทางเข้าอยู่ที่ความลึกประมาณ 4 เมตร จากนั้นดำลงไปเพื่อมาออกอีกทางที่ความลึก 18 เมตร ระหว่างที่ลดระดับให้มองหาปลาไหลมอร์เร่ย์สีเขียวขนาดใหญ่ รวมทั้งกุ้งปะการัง (coral banded shrimp) ที่อาศัยอยู่ตามซอกในปล่อง จุดดำน้ำหินใบสามารถนำทางได้ง่ายๆโดยการว่ายรอบกองหิน ที่นี่คุณมีโอกาสเจอปลาทะเลขนาดใหญ่ เช่น ปลาฉลามวาฬ หรือ ปลาฉลามหัวบาตร (bull shark) อีกด้วย
ฉลามวาฬที่จุดดำน้ำหินใบเกาะเต่า (Sail Rock) รูป: Jingyu Li
ตำแหน่ง: ประมาณ 7 กม. ทางตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะเต่า
ความลึก: เฉลี่ย 17 เมตร / สูงสุด 28 เมตร
ระดับนักดำน้ำ: ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงนักดำน้ำที่มีประสบการณ์
กองตุ้งกูเกาะเต่ามีลักษณะเป็นกองหินที่เรียงเป็นแถว เหมาะสำหรับการดำแบบ wall dive (ดำดูผนังรอบๆกองหิน) ทั้งยังมีปลาทะเลฝูงใหญ่ๆให้ดูมากมาย เช่น ฝูงปลากระพง ปลามง และปลาสาก ส่วนที่ตื้นของกองตุ้งกูจะเต็มไปด้วยสวนดอกไม้ทะเล (anemone) ส่วนช่องแคบที่อยู่ลึกกว่าสามารถพบกัลปังหาและปะการังแส้
ตำแหน่ง: ประมาณ 5 กม. ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะนางยวน
ความลึก: เฉลี่ย 20 เมตร / สูงสุด 36 เมตร
ระดับนักดำน้ำ: นักดำน้ำที่มีประสบการณ์
จุดดำน้ำกองชุมพรเป็นกองหินที่มีความลึกและมักถูกสงวนไว้สำหรับนักดำน้ำระดับแอดวานซ์โอเพ่นวอเทอร์ แต่ในวันที่ทะเลมีสภาพดี-น้ำนิ่งและใส นักเรียนโอเพ่นวอเทอร์ก็มีโอกาสมาได้ในการฝึกดำน้ำวันสุดท้ายของหลักสูตร กองชุมพรมีทัศนียภาพใต้น้ำอันงดงาม การก่อตัวของหินอันน่าทึ่ง และปลาทะเลขนาดใหญ่ และโอกาสที่จะได้พบฉลามวาฬที่นี่ก็มีมากขึ้นเรื่อยๆ
กองชุมพร เกาะเต่า
ตำแน่ง: ห่างจากทางใต้สุดของเกาะเต่า 1 กิโลเมตร
ความลึก: เฉลี่ย 15 เมตร / สูงสุด 28 เมตร
ระดับนักดำน้ำ: ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงนักดำน้ำที่มีประสบการณ์
กงทรายแดง หรือ ชาร์คไอส์แลนด์ (เกาะฉลาม) ไม่ใช่ได้ชื่อจากสัตว์นักล่าอย่างฉลาม แต่ได้จากลักษณะของตัวเกาะที่ดูคล้ายครีบปลาฉลามเมื่อมองจากบางมุม กระแสน้ำเชี่ยวที่พัดผ่านกงทรายแดงเป็นครั้งคราวได้นำน้ำทะเลที่อุดมไปด้วยสารอาหาร ก่อให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ของสิ่งมีชีวิตทางทะเลในบริเวณนี้เป็นอย่างมาก เราสามารถพบปลาเก๋า เต่า และฝูงปลาผีเสื้ออาศัยอยู่ในบริเวณน้ำตื้น และทากเปลือย (nudibranch) ที่อนุบาลอยู่ตามชายฝั่งตะวันออก
ตำแหน่ง: ฝั่งตะวันตกของเกาะเต่า
ความลึก: เฉลี่ย 16 เมตร / สูงสุด 28 เมตร
ระดับนักดำน้ำ: ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงนักดำน้ำที่มีประสบการณ์
หินขาว หรือ ‘ไวท์ร็อค’ เป็นหนึ่งในจุดดำน้ำเกาะเต่ายอดนิยมสำหรับการดำน้ำทั้งในเวลาปรกติและไนท์ไดฟ์ โครงสร้างของกองหินขาวมีลักษณะคล้ายชั้นวางของเป็นชั้นๆ เอื้อแก่การอยู่อาศัยของปลากะรัง ปลาเก๋า เม่นทะเล และดอกไม้ทะเลหลากหลายสายพันธุ์ รวมทั้งปะการังอ่อนและหนอนพู่ฉัตรหลากสี ที่นี่ยังเป็นบ้านของปลาวัวไททัน (Titan triggerfish) ซึ่งบางครั้งอาจมีอาการก้าวร้าวไปบ้าง หากคุณชอบถ่ายภาพใต้น้ำ หินขาวมีทั้งองค์ประกอบที่น่าสนใจและสัตว์ทะเลมากมายให้กับภาพถ่ายที่ยอดเยี่ยมของคุณ
จุดดำน้ำบัวยันซี่เวิลด์เกาะเต่า (Buoyancy World)
ตำแหน่ง: ฝั่งตะวันตกของเกาะนางยวน
ความลึก: เฉลี่ย 10 เมตร / สูงสุด 18 เมตร
ระดับนักดำน้ำ: ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงนักดำน้ำที่มีประสบการณ์
ที่กองหินทวินคุณจะได้พบปะการังโขด ฟองน้ำครก (Neptune barrel sponges) ที่ปกคลุมไปด้วยหนอนท่อตัวยาวสีขาว (Tubeworm) และปลิงทะเลสีดำ กระจัดกระจายอยู่รอบๆกองหินทั้งสาม ระหว่างกองหินสองกองที่ตื้นกว่า (12-14 เมตร) คุณจะได้พบกับครอบครัวปลาการ์ตูนลายปล้อง (Clarks anemone fish) ที่ได้รับการปกป้องโดยวงแหวนเปลือกหอย (ที่นักดำน้ำช่วยกันสร้างขึ้น)
หากว่ายออกจากกองหินกองตรงกลางไปทางทิศเหนือ เราจะพบกับ ‘บัวยันซี่เวิลด์’ (Buoyancy World) ซึ่งเป็นจุดดำน้ำเกาะเต่าแบบ ‘ทางเลือก’ จุดประสงค์เพื่อช่วยลดจำนวนนักดำน้ำที่กองหินทวิน ที่นี่คุณจะได้พบกับปฏิมากรรมที่มนุษย์สร้างขึ้นจากวัสดุที่สามารถดึงดูดปลาและการก่อตัวของปะการัง ควบคู่ไปกับสิ่งปลูกสร้างที่มีไว้สำหรับนักดำน้ำมือใหม่ได้ฝึกทักษะการลอยตัว (bouyancy)
ตำแหน่ง: 30 เมตร จากกองหินพีวี
ความลึก: เฉลี่ย 18 เมตร / สูงสุด 30 เมตร
ระดับนักดำน้ำ: นักดำน้ำที่มีประสบการณ์
ซากเรือหลวงสัตกูต (LCI: Landing Craft Infantry 724) เป็นจุดดำน้ำเกาะเต่าที่หลายคนโปรดปราน อดีตเรือรบในสงครามโลกครั้งที่สองของสหรัฐอเมริกาลำนี้มีความยาว 48 เมตร ถูกจมลงในวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2554 เพื่อสร้างแนวปะการังเทียมแห่งใหม่ ระหว่างประจำการในกองทัพเรือสหรัฐฯ เรือสัตกูตได้เข้าร่วมรบใน ‘ยุทธการอิโวจิมา’ ซึ่งเป็นการต่อสู้ระหว่างสหรัฐฯกับญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง
กระดูกงูหรือฐานของซากเรือตั้งอยู่บนพื้นทรายที่ความลึกสูงสุดระหว่าง 27 ถึง 30 เมตร ขณะที่ยอดเสากระโดงอยู่ที่ความลึก 18 เมตร ทำให้การดำน้ำที่นี่เหมาะสำหรับนักดำน้ำแอดวานซ์โอเพ่นวอเทอร์มากที่สุด ซากเรือหลวงสัตกูตตั้งอยู่ห่างจาก ‘กองหินพีวี’ เพียง 30 เมตร จึงทำให้บริเวณนี้เกิดเป็นจุดดำน้ำขนาดใหญ่ที่มีสิ่งชีวิตใต้ทะเลเป็นจำนวนมาก ที่นี่คุณจะพบกับฝูงขนาดใหญ่ของปลากล้วย ปลาสากหางเหลือง ปลากระพงชนิดต่างๆ ปลานกขุนทอง และ ปลาเก๋า
จุดดำน้ำเรือจมสัตกูต เกาะเต่า (รูป: Jingyu Li)
ตำแหน่ง: ตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะนางยวน
ความลึก: เฉลี่ย 12 เมตร / สูงสุด 30 เมตร
ระดับนักดำน้ำ: ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงนักดำน้ำที่มีประสบการณ์
หินเขียวเป็นจุดดำน้ำของเกาะเต่าที่มีความน่าตื่นเต้นหลายอย่าง ที่นี่เหมาะแก่การมาว่ายรอดถ้ำ (swim through) ซุ้มประตูที่เกิดจากหินพิงกัน และรอยแยกขนาดใหญ่ต่างๆ ซึ่งตัดผ่านโขดหินใต้น้ำ ที่นี่ยังเป็นบ้านของปลาวัวไททันและปลาวัวขอบเหลือง (Yellow margin triggerfish) นักดำน้ำอาจพบกับ ‘ทริกเกอร์-แอทแท็ค’ (หรือ การจู่โจมของปลาวัว) ในช่วงฤดูวางไข่ เนื่องจากพวกมันต้องการปกป้องรัง ซึ่งกลายเป็นการเพิ่มความน่าสนใจให้กับจุดดำน้ำแห่งนี้
ปลาวัวไททันที่หินเขียว เกาะเต่า
ตำแหน่ง: ตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะนางยวน
ความลึก: เฉลี่ย 12 เมตร / สูงสุด 20 เมตร
ระดับนักดำน้ำ: ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงนักดำน้ำที่มีประสบการณ์
กองหินนางยวน มีอีกชื่อที่เรียกกันว่า ‘หินแดง’ หรือ ‘เรดร็อค’ (Red Rock) กองหินแห่งนี้อยู่ลึกตั้งแต่ 18 เมตรไล่ขึ้นมาจนยอดอยู่เกือบถึงผิวน้ำ ที่นี่เป็นแหล่งอาศัยของปลากระเบน เต่า และปลาแมงป่อง (scorpionfish) ซึ่งมักอาศัยอยู่ตามรอยแยกของหินที่เกิดจากการกัดกร่อนตลอดหลายทศวรรษ หากมุ่งหน้าจากชายฝั่งของเกาะนางยวนไปทาง 240 องศา คุณอาจได้พบกับปลาวัวไททัน (Titan triggerfish) เฝ้าอยู่ที่ฐานของถ้ำแห่งหนึ่ง ถ้ำแคบๆนี้สามารถเข้าไปสำรวจได้ โดยมีระดับความลึก 12 เมตร ที่สำคัญคือคุณต้องผ่านการฝึกอบรมในการดำน้ำในถ้ำ (Cavern diving) มาก่อน
เต่ากระที่หินวงพินนาเคิล เกาะเต่า
ตำแหน่ง: ฝั่งตะวันออกของเกาะเต่า
ความลึก: เฉลี่ย 12 เมตร / สูงสุด 26 เมตร
ระดับนักดำน้ำ: ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงนักดำน้ำที่มีประสบการณ์
กองหินวงเป็นจุดดำน้ำฝั่งตะวันออกของเกาะเต่าที่คนมาใช้น้อย ทั้งที่มีความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลแตกต่างไปจากชายฝั่งตะวันตกของเกาะเต่า กองหินนี้อยู่ที่ระดับความลึก 26 เมตร เราสามารถพบฟองน้ำสีฟ้า กัลปังหาที่มีสีสันสวยงาม และแส้ทะเล คุณยังมีโอกาสได้เจอเจ้าบ้านอย่างเต่ากระที่มักอาศัยอยู่ใต้หินที่มีลักษณะคล้ายหิ้ง พร้อมกับปลาปักเป้า เม่น และปลาสินสมุทร
ตำแหน่ง: ตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะเต่า
ความลึก: เฉลี่ย 6 เมตร / สูงสุด 12 เมตร
ระดับนักดำน้ำ: ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงนักดำน้ำที่มีประสบการณ์
อ่าวลึกเป็นอ่าวที่มีทิวทัศน์งดงามและส่วนใหญ่จะเงียบสงบเพราะอยู่ในกำบังลม ที่นี่เป็นแหล่งอนุบาลของสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลในวัยแรกรุ่น เป็นจุดดำน้ำที่มีระดับน้ำไม่ลึกมาก พื้นทะเลเป็นทรายเรียบซึ่งเป็นแหล่งอาศัยของปลาไหลสวน (Garden eels) ปลาแมงป่อง และปลาชนิดอื่นๆที่หากินตามพื้นทราย ส่วนปะการังโขดที่กระจัดกระจายอยู่นั้นเป็นบ้านของปลาผีเสื้อ ปลาตะกรับ (Sergeant majors) และฝูงปลาสากหางเหลือง
ฝูงปลากล้วยที่จุดดำน้ำอ่าวม่วง เกาะเต่า
ตำแหน่ง: ทางเหนือของเกาะเต่า
ความลึก: เฉลี่ย 5 เมตร / สูงสุด 16 เมตร
ระดับนักดำน้ำ: ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงนักดำน้ำที่มีประสบการณ์
อ่าวม่วงเป็นแหล่งเจริญพันธ์ของปลาขนาดเล็กหลายชนิด มีแนวปะการังน้ำตื้นอยู่ติดชายฝั่งทางตะวันออกและตะวันตกของอ่าว และมีปะการังโขดขึ้นอยู่บริเวณตรงกลาง อ่าวม่วงจึงเปรียบได้กับ ‘สวนปะการังตามธรรมชาติ’ ไม่มีผิด อ่าวแห่งนี้เหมาะสำหรับทั้งผู้ที่ชื่นชอบการดำน้ำตื้นและนักดำน้ำสกูบามือใหม่ เพราะมีภูมิประเทศใต้น้ำที่ค่อยๆไล่จากพื้นทรายตื้นๆไปสู่กองหินที่ลึกลง ผู้ประกอบการท่องเที่ยวหลายรายจากเกาะใกล้เคียงนิยมมาเยี่ยมชมอ่าวม่วงเพราะความงามและบริสุทธิ์ของที่นี่
ตำแหน่ง: ตะวันออกของเกาะนางยวน
ความลึก: เฉลี่ย 6 เมตร / สูงสุด 16 เมตร
ระดับนักดำน้ำ: ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงนักดำน้ำที่มีประสบการณ์
เจแปนนีสการ์เด้นส์ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของเกาะนางยวนซึ่งแยกจากกันโดยสันทรายแห่งเดียวในโลกที่เชื่อมแผ่นดินผืนเล็กๆทั้งสามเข้าด้วยกัน จุดดำน้ำเกาะเต่าแห่งนี้เหมาะทั้งสำหรับดำน้ำตื้นดูปะการัง และยังมีสภาพที่เหมาะสมกับนักดำน้ำสกูบามือใหม่ เนื่องจากมีบริเวณที่เป็นพื้นทรายเรียบๆให้นักดำน้ำมือใหม่ปรับการลอยตัว (buoyancy) ก่อนที่จะไปผจญภัยไปยังแนวปะการังที่เปราะบาง แนวปะการังของเจแปนนีสการ์เด้นส์นั้นมีความสวยงามอย่างไม่น่าเชื่อ ที่นี่เป็นแหล่งอาศัยของปลาวัยแรกรุ่นหลายพันธุ์ เช่น ปลาสินสมุทรวงฟ้า (Blue-ringed angelfish) ปลาเขียวพระอินทร์ (Moon wrasse) ปลาสลิดหิน ปลาตะกรับ รวมทั้งปลาปักเป้าหนามทุเรียน (porcupine pufferfish) ที่มักซ่อนตัวอยู่ตามรอยแยกของหินหรือปะการังโขด บางโอกาสคุณอาจได้เจองูสมิงทะเล (Sea krait) อีกด้วย
18/3 หมู่ 3 ต.เกาะเต่า
อ.เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี 84360
info@kohtaocompleteguide.com